วัดบ้านไร่ (วัดหลวงพ่อคูณ) ตั้งอยู่ใน ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา มีชื่อเสียงเนื่องจากมีหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เป็นเจ้าอาวาส กับภาพที่เห็นกันชินตา พระเกจิอาจารย์ชื่อดังรูปหนึ่ง ถือกิ่งไม้ขนาดเล็กๆ ในมือ เดินเคาะศีรษะลูกศิษย์ลูกหาที่เลื่อมใสศรัทธา ไม่เว้นแม้แต่นักการเมือง ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ก็ต้องมาให้ท่านเคาะหัวให้ เพื่อความเป็นสิริมงคล เป็นที่เคารพศรัทธาของคนทั้งประเทศ จึงทำให้วัดแห่งนี้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปด้วย
หลวงพ่อคูณ เป็นพระชาวบ้านที่เข้าถึงมวลชนทุกระดับชั้น ตั้งแต่เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน นักการเมืองไปจนถึงชาวบ้าน ด้วยท่านมีเมตตามหานิยม มีวิธีการสั่งสอนที่ตรงไปตรงมาง่ายแก่การเข้าใจ
วัดบ้านไร่เดิมเป็นสำนักสงฆ์เล็กๆ ที่มีมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2436 ในช่วงรัชกาลที่ 5 โดยมีพระอาจารย์เชื่อม วิรโธ เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกได้มีการก่อสร้างศาสนอาคารต่างๆ ขึ้น และมีพระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ) เป็นเจ้าอาวาสปัจจุบัน
หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เป็นชาวบ้านไร่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมาโดยกำเนิด ได้ถือกำเนิดเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2466 (บางตำราว่าวันที่ 4 ตุลาคม) ตรงกับวันแรม 10 ค่ำ เดือน 10 ปีกุน ในครอบครัวของชาวไร่ชาวนา สมัยที่หลวงพ่อคูณอยู่ในวัยเยาว์ 6-7 ขวบ ได้เข้าเรียนหนังสือ กับพระอาจารย์เชื่อม วิรโธ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสในขณะนั้น กับ พระอาจารย์ฉาย และพระอาจารย์หลี โดยเรียนทั้งภาษาไทย และภาษาขอม ที่วัดบ้านไร่นี่เอง และถือว่าเป็นสถานการศึกษาแห่งเดียวในหมู่บ้าน มิได้มีโรงเรียนทำการสอนเช่นในสมัยปัจจุบัน นอกจากเรียนภาษาไทยและขอมแล้ว พระอาจารย์ทั้ง 3 ยังมีเมตตาอบรมสั่งสอนวิชา คาถาอาคม เพื่อป้องกันอันตรายต่าง ๆ ให้แก่หลวงพ่อคูณด้วย นับว่าหลวงพ่อคูณรู้วิชาไสยศาสตร์มาแต่เยาว์วัย

หลวงพ่อคูณได้อุปสมบท เมื่ออายุได้ 21 ปี ณ พัทธสีมาวัดถนนหักใหญ่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2487 (หนังสือบางแห่งว่า ปี 2486) ตรงกับวันศุกร์ เดือน 6 ปีวอก โดยพระครูวิจารย์ดีกิจ อดีตเจ้าคณะอำเภอด่านขุนทด เป็นพระอุปัชฌาย์ พระกรรมวาจาจารย์ คือพระอาจารย์สุข วัดโคกรักษ์ หลวงพ่อคูณได้รับฉายาว่า ปริสุทโธ
หลังจากที่หลวงพ่อคูณอุปสมบทเป็นพระภิกษุเรียบร้อยแล้ว ท่านได้ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อแดง วัดบ้านหนองโพธิ์ ต.สำนักตะคร้อ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา (บางตำรากล่าวว่าเมื่อบรรพชาแล้วได้เล่าเรียนกับหลวงพ่อคง ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดถนนหักใหญ่ก่อน แล้ว หลวงพ่อคงจึงนำไปฝากกับหลวงพ่อแดง)
เวลาล่วงเลยนานพอสมควร กระทั่งหลวงพ่อคงเห็นว่า ลูกศิษย์ของตนมีความรอบรู้ชำนาญการปฏิบัติธรรมดีแล้ว จึงแนะนำให้ออกธุดงค์จาริกไปตามป่าเขาลำเนาไพร ฝึกปฏิบัติธรรมเบื้องสูงต่อไป แรก ๆ หลวงพ่อคูณก็ธุดงค์ จาริกอยู่ในเขตจังหวัดนครราชสีมา จากนั้นจึงจาริกออกไปไกล ๆ กระทั่งถึงประเทศลาว และประเทศเขมร มุ่งเข้าสู่ป่าลึก เพื่อทำความเพียรให้เกิดสติปัญญา เพื่อการหลุดพ้น จากกิเลส ตัณหา และอุปทานทั้งปวง
เส้นทางธุดงค์ของหลวงพ่อคูณ
หลังจากที่พิจารณาเห็นสมควรแก่การปฏิบัติแล้ว หลวงพ่อคูณจึงออกเดินทางจากประเทศเขมรสู่ประเทศไทย เดินข้ามเขตด้านจังหวัดสุรินทร์ สู่จังหวัดนครราชสีมา กลับบ้านเกิดที่บ้านไร่ และได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ในเวลาต่อมา จากนั้นจึงเริ่มดำเนินการก่อสร้างถาวรวัตถุทาง พระพุทธศาสนา ในช่วงที่หลวงพ่อคูณเป็นเจ้าอาวาส วัดบ้านไร่ได้มีการพัฒนามากที่สุด โดยเริ่มสร้างอุโบสถ พ.ศ.2496 โดยชาวบ้านได้ช่วยกันเข้าป่าตัดไม้ ซึ่งในสมัยก่อนมีอยู่มาก การตัดไม้ในสมัยนั้น ไม่ค่อยสะดวกนัก เพราะไม่มีเครื่องจักร ไม่มีถนน กว่าจะได้ไม้ที่เลื่อยแปรสภาพสำเร็จแล้ว ต้องเผชิญกับการขนย้ายที่ยากลำบาก โดยอาศัยโคเทียมเกวียนบ้าง ใช้แรงงานคนลากจูง บนทางที่แสนทุรกันดาร เนื่องจากถนนทางเกวียนนั้นเป็นดินทรายเสียส่วนใหญ่ เมื่อต้องรับน้ำหนักมากก็มักทำให้ล้อเกวียนจมลงในทราย การชักจูงไม้แต่ละเที่ยวจึงต้องใช้เวลาถึง 3-4 วัน
ภาพซ้าย ภาพจำลองการก่อสร้างพระอุโบสถ ภาพขวา พระอุโบสถเมื่อสร้างเสร็จแล้ว
แต่กระนั้นหลวงพ่อก็สามารถนำชาวบ้านช่วยกันสร้างพระอุโบสถจนสำเร็จ (ปัจจุบันได้รื้อลงแล้ว และก่อสร้างหลังใหม่แทน) นอกจากสร้างพระอุโบสถแล้ว หลวงพ่อยังสร้างโรงเรียน กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ รวมทั้งขุดสระน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค ยังความสะดวกสบาย และความเจริญในบ้านไร่ยิ่งนัก แม้ปัจจุบันจะไม่ได้เห็นสิ่งดังกล่าว เนื่องจากหลวงพ่อได้เปลี่ยนสิ่งก่อสร้างดังกล่าวทั้งหมด มาเป็นปูนเป็นอิฐให้สวยงามและทนทานยิ่งขึ้น

นอกจากการก่อสร้างอุโบสถแล้ว หลวงพ่อคูณยังสร้างกุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ ขุดสระน้ำไว้เพื่ออุปโภคและบริโภค และที่สำคัญยังสร้างโรงเรียนไว้เพื่อเด็กบ้านไร่อีกด้วย นอกเหนือจากนั้น ด้วยมีผู้ศรัทธาจากทั่วประเทศได้ร่วมถวายวัตถุปัจจัยเป็นเงินมหาศาล หลวงพ่อยังได้นำเงินบริจาคต่างๆ ที่ได้มา ก่อตั้งเป็นมูลนิธิหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เพื่อกิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่างๆ เช่น สร้างโรงพยาบาล โรงเรียน หอสมุด เป็นต้น
ปัจจุบัน วัดบ้านไร่ ได้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมา มีพุทธศาสนาสนิกชนเป็นจำนวนมาก เดินทางมาที่วัดบ้านไร่แห่งนี้ เพื่อสักการะหลวงพ่อคูณ และหวังจะให้หลวงพ่อคูณเคาะหัวเพื่อเป็นศิริมงคลซักครั้ง
สำหรับท่านที่จะมาเที่ยววัดบ้านไร่ เนื่องจากวัดนั้นมีขนาดพื้นที่ไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นสิ่งปลูกสร้างใหม่ และกำลังอยู่ในช่วงก่อสร้าง ทาง KHAOYAIZONE จึงได้ขอเป็นไกด์นำเที่ยวในครั้งนี้ โดยเริ่มต้นจาก
1. พระอุโบสถ ที่เป็นทั้งโบสถ์และศาลาการเปรียญในศาสนสถานเดียวกัน สวยงาม ทั้งในเรื่องของวัสดุ ลวดลายแกะสลัก และประโยชน์ต่อการใช้สอย และเป็นที่จำพรรษาของหลวงพ่อคูณด้วย โดยพระอุโบสถนั้นแบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นบนเป็นโบสถ์ และชั้นล่างเป็นศาลาการเปรียญ ซึ่งชั้นล่างนี้จะเป็นสถานที่ที่ลูกศิษย์ลูกหา และนักท่องเที่ยวที่ต้องการจะสักการะหลวงพ่อคูณ สามารถเข้าสักการะได้ที่นี่

พระอุโบสถ ยิ่งใหญ่ และสวยงาม
ภายในสร้างด้วยหินอ่อน เย็นสบาย หลังกระจกสีดำคือ ห้องจำพรรษาของหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ
ในช่วงที่หลวงพ่อคูณ ท่านออกมาเคาะหัวให้ลูกศิษย์ เค้าห้ามถ่ายรูป ก็เลยขอนำรูปจากเว็ปอื่นมาให้ชมนะครับ (ผมไม่กล้า)
2. ศาลาปริสุทธาร ศาลาน้ำมนต์เพื่อเป็น “ปริสุทธาร” สายน้ำอันบริสุทธิ์ซึ่งปลุกเสกโดยหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เพื่อให้เป็นสายอุทกธารที่เป็นสิริมงคล สุขกาย เย็นใจ บังเกิดความร่มเย็นเป็นสุขแก่พุทธศาสนิกชนทุกคน
3. พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ แฝงธรรม"ยิ่งสละ-ยิ่งได้"

พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ตั้งอยู่ที่ศาลาการเปรียญ (หลังเดิม) ณ วัดบ้านไร่ จัดสร้างขึ้นเพื่อนำเสนอเรื่องราวชีวประวัติของหลวงพ่อคูณ ตั้งแต่เยาว์วัย การอุปสมบทเป็นพระภิกษุ วัตรปฏิบัติในสมณะเพศที่ถือสันโดษและเป็นพระนักพัฒนา แรงศรัทธามหาชนที่มีต่อหลวงพ่อคูณ รวมทั้งการบริจาคทานจำนวนมหาศาล เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ให้แก่ประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศและบางส่วนใน ต่างประเทศ การจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ได้สะท้อนเรื่องราวต่างๆ ผ่านภาพจิตรกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้น บอกเล่าภาพชีวิตในอดีต สิ่งของเครื่องใช้จำนวนมากมาย ซึ่งผู้มีจิตศรัทธานำมาถวาย อัฐบริขารและเครื่องใช้จำเป็นในการครองสมณะเพศ การจัดทำภาพเสมือนจริงที่จำลองบรรยากาศการออกธุดงค์ของหลวงพ่อคูณ แสดงให้เห็นถึงบารมีธรรมอันยิ่งใหญ่ ประติมากรรมที่สื่อถึงผลบุญของการให้ทานอันเป็นวัตรปฏิบัติสำคัญของหลวงพ่อ มหาทานของหลวงพ่อคูณที่ได้บริจาคเงินจำนวนมหาศาล เพื่อสาธารณประโยชน์ นอกจากนี้ยังมีการแสดงพินัยกรรมของหลวงพ่อคูณ เนื่องจากหลวงพ่อฯ ได้บริจาคร่างกายเพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษา แสดงให้เห็นถึงความ แน่วแน่ในวิถีสันโดษอันเป็นวัตรปฏิบัติที่หลวงพ่อคูณได้ยึดถือมาตลอด ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ แบ่งเป็น 2 ชั้น 11 โซน ส่วนรายละเอียดในแต่ละโซน มีดังนี้
โซน 1 ศรัทธามหาชน จัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งหลวงพ่อคูณท่านั่งยองๆ ขนาดเท่าจริง มีภาพจิตรกรรมและแสดงภาพประชาชนจากภาคต่างๆ มากราบนมัสการหลวงพ่อ มีบอร์ดกราฟิกเรื่อง เอกลักษณ์หลวงพ่อคูณ อาทิ การนั่งยอง รับปัจจัยใบเดียว เหยียบโฉนด เคาะหัว วัตถุมงคล เป็นต้น
ตู้จัดแสดงสิ่งของที่ผู้มีจิตศรัทธานำมาถวายหลวงพ่อ ภายใต้หัวข้อ "กูทำดี เขาจึงให้ของ ดีแก่กู"
โซน 2 ภิกษุสมถะแห่งดินแดนอีสาน จัดแสดงสิ่งของจำลองบรรยากาศเหมือนห้องนอนเดิมของหลวงพ่อ พร้อมเสียงบรรยาย มีบอร์ดเล่าเรื่อง "ธรรมะข้างบันได" และภาพแสดงในหัวข้อ เทพเจ้าแห่งที่ราบสูง แบบอย่างของผู้บำเพ็ญทานบารมี
โซน 3 กำเนิดผู้มีบุญ จัดแสดงหุ่นจำลอง ประกอบเทคนิคแสงเสียง ตอนโยมแม่ฝันเห็นดวงแก้ว อันเป็นนิมิตหมายอันดีของผู้มีบุญที่กำลังจะถือกำเนิด และภาพจิตรกรรม กำเนิดผู้มีบุญ
โซน 4 ตั้งจิตช่วยคนพ้นทุกข์ จัดแสดงภาพจิตรกรรมเมื่อครั้งที่หลวงพ่อได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ และตั้งจิตปณิธานช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์
โซน 5 ออกธุดงค์ จัดแสดงหุ่นจำลองย่อส่วนประกอบเทคนิคภาพเคลื่อนไหวและแสงเสียง จำลองเหตุการณ์เทศนาโปรดสัมภเวสี เมื่อครั้งออกธุดงค์ ในช่วงปี พ.ศ.2492-2495 และบอร์ดกราฟิก "จาริกบุญ จาริกธรรม" นำเสนอเรื่องเส้นทางธุดงค์ 3 ประเทศ ไทย-ลาว-เขมร
โซน 6 พัฒนาวัดบ้านไร่ จัดแสดงหุ่นจำลองย่อส่วน 4 เหตุการณ์ ได้แก่ หลวงพ่อคูณสร้างโบสถ์ไม้เพื่อใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจของพระลูกวัด, หลวงพ่อคูณนำชาวบ้านขุดสระน้ำเพื่อเป็นที่เก็บน้ำไว้ใช้หน้าแล้ง, หลวงพ่อคูณปีนขึ้นเจิมป้ายโรงเรียนวัดบ้านไร่เพื่อความเป็นสิริมงคล และหลวงพ่อคูณใช้ยอดสากตำมวลสารศักดิ์สิทธิ์ นำมาสร้างพระเครื่องให้ศิษยานุศิษย์ได้บูชา มีบอร์ดแสดงภาพของการพัฒนาวัดบ้านไร่
โซน 7 ทำบุญกับพระเจ้าอยู่หัว ประมวลภาพพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ การจัดแสดงวัตถุอันเป็นที่ระลึก วีดิทัศน์ประมวลภาพพระมหากรุณาธิคุณ
โซน 8 มรดกทาน มรดกธรรม จัดแสดงรูปหล่อสำริดหลวงพ่อคูณท่านั่ง วิปัสสนา การจัดแสดงวัตถุอันเป็นที่ระลึกถึงคุณูปการ เกียรติคุณของหลวงพ่อคูณที่ได้รับการเชิดชูยกย่องจากหน่วยงาน สถาบันและองค์กรต่างๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ รวมทั้งข้อความในพินัยกรรม (มรณานุสติ)
โซน 9 ทานบารมีทวีคูณ แสดงงานกราฟิกบนประติมากรรมต้นไม้แห่งทานบารมี วีดิทัศน์ประมวลภาพคอมพิวเตอร์ แสดงข้อมูลเรื่องการบริจาคทานของหลวงพ่อคูณในด้านต่างๆ
โซน 10 เครื่องยึดเหนี่ยวใจใฝ่ทำดี มีตู้จัดแสดงวัตถุมงคลรุ่นต่างๆ คอมพิวเตอร์เพื่อค้นคว้า สำหรับให้ผู้ชมได้อ่านข้อมูลวัตถุมงคลรุ่นต่างๆ ที่ได้รวบรวมไว้
โซน 11 ให้แล้วรวย จัดแสดงวีดิทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับการทำบุญทำทาน ซึ่งเป็นภาพที่พบเห็นคุ้นตาในวิถีชีวิตของคนไทยเมื่อไปทำบุญ สอดแทรกคำสอนของหลวงพ่อคูณที่พูดถึงการทำบุญมาเป็นประโยคปิดท้ายในแต่ละช่วง ประติมากรรมต้นไม้แผ่ความรวย สื่อความหมายถึงการงอกงามของบุญกุศลที่ผู้มีจิตศรัทธาทุกคนได้ร่วมสร้างกับ หลวงพ่อคูณ นอกจากนี้ ได้จัดแสดงผนังภาพ "๙ บุญคูณลาภ" แนะนำจุดทำบุญภายในวัดบ้านไร่ 9 แห่ง เพื่อความเป็นสิริมงคล หลังจากได้ชมพิพิธภัณฑ์แล้ว และตู้หยอดเหรียญที่ระลึกของพิพิธภัณฑ์
ตัวอาคารของพิพิธภัณฑ์นั้น เป็นสถาปัตยกรรมยุคกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานและอุทยานธรรมแก่อนุชนคนรุ่นหลังได้ใช้เป็นที่ปฏิบัติ และศึกษาคำสอนในพระพุทธศาสนาต่อไป" และเป็นสถานที่ที่ได้จารึกตำนานของหลวงพ่อคูณ เพื่อเป็นแบบอย่างให้สาธุชนได้เจริญรอยตามปณิธานแห่งทาน บารมีของหลวงพ่อคูณให้คงอยู่ตราบนานเท่านาน
การเดินทางไปวัดบ้านไร่ ทางรถยนต์
จากกรุงเทพฯ ( ห้างฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต ) ใช้ถนนพหลโยธิน ( ทางหลวงหมายเลข 1 ) มุ่งหน้าสู่จังหวัดสระบุรี ประมาณ 75 กิโลเมตร จะถึงตัวเมืองสระบุรี เมื่อถึงตัวเมืองสระบุรีแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) จากนั้นมุ่งหน้าสู่จังหวัดนครราชสีมา ประมาณ 100 กิโลเมตร จะถึงทางแยกต่างระดับก่อนถึงอำเภอสี่คิ้ว ป้ายบอกทางถนนสาย 201 กับ ถนนสาย 24 จะเป็นทางแยกที่ให้เลือกไประหว่างอำเภอโชคชัย และไปจังหวัดชัยภูมิ ให้เลี้ยวซ้ายไปทางถนนสาย 201 จากนั้นขับตรงไปมุ่งหน้าสู่อำเภอด่านขุนทด พอถึงอำเภอด่านขุนทดให้ท่านขับตรงไปอีก จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าถนนสาย 2217 จากนั้นขับตรงไป ประมาณ 11 กิโลเมตร ก็จะถึง วัดบ้านไร่
แยกถนนมิตรภาพ ก่อนถึงสี่คิ้ว
แยกซ้าย 2217
ป้ายและซุ้มประตูบริเวณ 3 แยกก่อนถึงเขตเข้าวัดพิกัดวัดบ้านไร่
ละติจูด: 15.299377 , ลองจิจูด: 101.737046
ส่งท้ายด้วย